แนวคิดใหม่ การจัดเก็บสายรัดห้ามเลือดไว้ที่กระเป๋าแขนเสื้อ Valor Tactical
นับตั้งแต่ปฎิบัติการในอัฟกานิสถาน
ความพยายามที่จะเฟ้นหา ปรับปรุงรูปแบบ
เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตของกำลังพลในสนามรบ
จากเหตุลอบวางระเบิดแสวงเครื่องอยู่เสมอ

กองพลน้อยจู่โจมที่ 3 กองพลทหารราบภูเขาที่ 10 หรือ
10th Mountain Division's 3rd Brigade Combat Team
ได้เสาะหาจนค้นพบ และนำวิธีการจัดเก็บสายรัดห้ามเลือด
ในรูปแบบใหม่ไปปรับใช้เป็นระเบียบปฎิบัติประจำหน่วย

การให้กำลังพลทุกนายที่ออกปฎิบัติภารกิจพกพาสายรัดห้ามเลือด
ไว้ที่กระเป๋าแขนเสื้อข้างขวา โดยที่ปล่อยปลายสายออกมาติดเข้ากับ
แผ่นเวลโครที่ด้านนอกของกระเป๋าแขน เผยให้เห็นปลายสายแต้มสีแดง

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 25 กองพันที่ 4 หรือ
4th Battalion, 25th Artillery Regiment
ได้เห็นการปรับใช้ของ หน่วยหน้าในสมรภูมิ และเห็นด้วยกับแนวคิด
และการปรับเปลี่ยนที่ตอบโจทย์ของปัญหา
และได้มีคำสั่งให้กำลังพลปรับใช้ วิธีการจัดเก็บในแนวทางเดียวกัน

ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ก็สามารถเห็นปลายสายสีแดงบนแขนขวา
บนเครื่องแบบของกำลังพลทุกนายในฐานประจำการ

"ดูเหมือนไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตอะไร แต่มันได้ประสิทธิภาพที่สูงมาก"
ผู้บังคับการกองพลน้อยจู่โจมที่ 3
จ่าสิบเอกพิเศษ จิมมี่ คาราเบลโล ผู้ริเริ่มแนวคิดนี้กล่าว

โดยปกติแล้วกำลังพลทุกนายจะมี สายรัดห้ามเลือด หรือ ทูนิเก้ (TQ / Tourniquet)
พกคู่กับชุดปฐมพยาบาลห้ามเลือดส่วนบุคคล (IFAK) อยู่แล้ว 1 เส้น
และมักจะจัดเก็บพกพา เส้นสำรองที่ 2 ไว้ที่กระเป๋ากางเกงบริเวญต้นขา
หรือกระเป๋าปลายขากางเกงบริเวณข้อเท้า

ด้วยอำนาจการทำลายของระเบิด กลายเป็นตลกร้ายที่
กำลังพลที่เข้าเผชิญกับระเบิดแสวงเครื่อง ต้องสูญเสียสายรัดห้ามเลือด
ไปพร้อมกับขาของพวกเขา

สิบโท การิค มอแกนวิค นายสิบพยาบาลทางอากาศ สังกัด
กรมทหารการบินที่ 52 กองพันที่ 1 ให้น้ำหนักยืนยันว่า
ระหว่างที่เขาประจำการในอัฟกานิสถาน
เขาให้การรักษากำลังพลกว่า 100 นาย ที่สูญเสียขาจากเหตุระเบิดแสวงเครื่อง
และพูดว่า "โดยส่วนมากแผลอวัยวะฉีกขาด
มักใช้สายรัดห้ามเลือดมากกว่า 1 เส้นขึ้นไป"

"การปรับรูปแบบการพกพาสายรัดห้ามเลือด
มาอยู่ตรงแขนขวาของกำลังพลทุกนาย
เอื้อให้ผม ทหาร และเสนารักษ์คนอื่นๆ
ช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
เพราะรู้ว่าจะหยิบสายรัดห้ามเลือดได้จากที่ไหน"

กว่า 90% ของอัตราการเสียชีวิตของกำลังพลในสมรภูมิเกิดจาก
อาการบาดเจ็บตกเลือดรุนแรงที่ไม่ได้รับการปฐมพยาบาลห้ามเลือด

ถึงหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะไม่ได้เมื่อเผชิญกับระเบิด
แต่การห้ามเลือดที่ทันท่วงทีนั้นกลายเป็นแต้มต่อ ยื้อชีวิตของกำลังพล
เพื่อนำส่งออกพื้นที่จนถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ที่พร้อม
และวิทยาการทางการแพทย์ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเสียชีวิตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ


ที่มา : https://www.stripes.com/news/middle-east/afghanistan/10th-mountain-brigade-changes-tourniquet-policy-1.147680

บทความ : 10th Mountain brigade changes tourniquet policy

ผู้แปล เรียบเรียง : ธีธัช รินชัย เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

Leave a comment

All comments are moderated before being published